ตำนานของ New York Fashion Week นั้นมีการผันแปรขึ้นลงตลอดเวลา หลังจากที่ดีไซน์เนอร์ตัวเป้งๆเริ่มวางมือไป และกระแสความแรงของแฟชั่นวีคก็เริ่มดรอปลง สิ่งที่เข้ามาแทนที่ และได้จุดไฟให้กับวงการแฟชั่นอีกครั้งก็คือสิ่งที่เรียกว่า “Sneakers”
New York Fashion Week ปีล่าสุดนี้วนเวียนอยู่กับ “OFF CAMPUS” ของ Nike ซึ่งคือร้าน Pop-up ที่มีทั้งกิจกรรมให้เข้าร่วม และเป็นที่นำเสนอโปรเจ็กต์ “THE TEN” ของ Virgil Abloh โดยที่ Sneakers จากโปรเจ็กต์นี้ได้รับความสนใจอย่างล้นหลาม ทั้งจากเหล่าเซเล็ปที่มีอิทธิพล และจากสื่อ ซึ่งพอหลังจาก OFF CAMPUS จบลง ก็เป็นตาของ Raf Simons show ที่ทำกับ Calvin Klein และประเด็นก็คือว่าคืนนั้นเป็นคืนเดียวกันที่ KITH Sport ได้ปล่อยของทั้งโชว์เสื้อผ้า, และแน่นอนว่ามี Sneakers ด้วย
ซึ่งจะสรุปได้ง่ายๆก็คือว่า New York Fashion Week ที่เคยเต็มไปด้วยเสื้อผ้านั้น กลายเป็นสนามของรองเท้าไปซะส่วนใหญ่ในปีนี้!
ก่อนที่มันจะกลายเป็นปรากฏการณ์พลิกโฉมรันเวย์ Sneakers ก็เคยเป็นแค่ตัวประกอบฉากมาก่อน ในปี 2001 Yohji Yamamoto ได้คอลแลปกับ adidas และได้ผลลัพธ์ออกมาเป็น Tenet Flower รองเท้าลายดอกไม้ที่เป็นส่วนหนึ่งของคอลเล็กชั่นกีฬาที่ Yamamoto ออกแบบ แม้ว่าท้ายที่สุดแล้วรองเท้าคู่นั้นจะได้กลายเป็นตำนานของ adidas และตัวยามาโมโตะเอง แต่ว่า ณ ตอนนั้น Sneakers กลับไม่ได้รับความสนใจเท่าที่ควรเลย ถ้าเทียบกับเสื้อผ้า
สามปีต่อมา เราก็ได้เห็น Sneakers ตัวแรกจาก Dior Homme ในคอลเล็กชั่น Fall/Winter 2004 ตอนนั้นรองเท้าคู่นี้ได้ถูกนิยามว่าเป็น “Luxury Sneakers” ตัวแรกนับตั้งแต่การเปิดตัวของ Gucci Tennis ในปี 1984
อาจจะเป็นเรื่องบังเอิญรึเปล่าก็ไม่รู้ แต่เหมือนว่าเหล่าผู้คนที่หลงใหลในกลิ่นอายของ Sneakers จากยุค 80’s จะได้มีบทบาทในโลกแฟชั่นมากขึ้น พอมาถึงปี 2006 ดีไซน์เนอร์หลายๆคนเริ่มจับ Sneakers ขึ้นมาบนรันเวย์กันแบบจริงจัง หนึ่งในนั้นก็คือ Rick Owens เขาได้เปิดตัว “Dunks” รองเท้าบาสหนังที่สร้างกระแส และความไม่พอใจให้กับ Nike เพราะว่าในตัวรองเท้านั้น มีความ Swoosh อยู่ จน Nike ต้องส่งจดหมายไปเตือน
Credit: GQ
และความนิยมต่อ Sneakers ในโลกแฟชั่นก็เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ แบรนด์ Hi-end ชื่อดังอย่าง Lanvin ก็ได้เปิดตัว Sneakers รุ่นแรกในปี 2007 ส่วน Balenciaga ก็ตามมาในปี 2010 และเทรนด์นี้ก็มีมาเรื่อยๆ จนมารู้ตัวอีกที Sneakers ก็กลายเป็นเรื่องชินตาในแฟชั่นโชว์ไปซะแล้ว
เราลองมาดูปี 2016 กันบ้าง แฟชั่นไลน์ของ adidas ภายใต้ชื่อ “adidas Originals by White Mountaineering” เป็นหนึ่งในโปรเจ็กต์ที่ถูกนำเสนอใน Paris Men Fashion Week Spring/Summer 2016 ที่ “รองเท้า” มีความโดดเด่นกว่า “เสื้อผ้า” และปีต่อมา KITH ได้เปิดตัวใน New York Fashion week ด้วยชื่อ “KITHLAND” ซึ่งหนักหน่วงไปด้วยงานคอลแลปกับแบรนด์ระดับโลก ไม่ว่าจะเป็น BAPE, adidas, ASICS และอื่นๆ กลายเป็นรันเวย์รองเท้าได้กลายเป็นจุดสนใจแบบเต็มๆ
และแบรนด์ Swoosh ก็ได้ตามมาติดๆ เดือนตุลาคมปี 2017 Nike ได้เปิดตัว Air VaporMax ตัวล่าสุดบนรันเวย์ของ COMME des GARCONS Spring/Summer 2017 ใน Paris แทนที่จะแถลงข่าวเปิดตัวเอาเอง หรือไปเปิดตัวตามงาน Sneaker Con แบบที่เคยทำ
เทรนด์นี้ได้ทำให้มูลค่าของ Sneakers เพิ่มขึ้น จากที่เป็นแค่รองเท้า พอได้ไปอยู่บนรันเวย์ก็พูดได้ว่ามันเป็น “Luxury Item” และมูลค่าของมันก็ไม่ได้อยู่แค่บนรันเวย์ แต่พอมาอยู่บนท้องถนนทั่วไป มันก็คือไอเทมที่เป็นเหมือนสัญลักษณ์ที่ชัดที่สุดแล้วของวัฒนธรรม Streetwear
ในขณะเดียวกัน ยอดเติบโตของ Hi-end แฟชั่นนั้นก็มาจาก Accesories ใหม่ๆ ซึ่งมันก็สวนทางกับความเป็นจริงที่ว่าเครื่องประดับที่เคยสร้างยอดให้กับแบรนด์ระดับโลกอย่าง Louis Vuitton, Chanel เริ่มเดินทางมาถึงจุดอิ่มตัวแล้ว ด้วยเหตุผลที่ว่าเครื่องประดับเหล่านี้สามารถใช้งานได้หลากหลาย และทนทานมากพอ จนไม่ถึงขนาดว่าต้องเปลี่ยนใหม่ทุกๆซีซั่น
Sneakers จึงกลายเป็นทางเลือกใหม่ ด้วยความที่ Sneakers ก็มีความทนทาน หลากหลาย มากกว่า ถ้าเทียบกับเสื้อผ้า และสร้างจุดสนใจได้ดีเยี่ยมเลยทีเดียว เราอาจจะได้เห็นสไตล์ของ Sneakerhead บางคนที่ไม่มีอะไรมาก นอกจากรองเท้าสุดโหดหนึ่งคู่ กับเสื้อผ้าธรรมดา ซึ่งแค่นั้นก็เท่แล้ว และที่สำคัญรองเท้านั้น เราไม่จำเป็นต้องมาคอยซักคอยรีดด้วย แค่หยิบก็ใส่ก็จบลุค!
ข้อดีอีกอย่างก็คือ Sneakers นั้นไม่ถือแพงมาก ถ้าเทียบกับเสื้อผ้า Hi-end ต่อให้ Nike x Virgil Abloh นั้นจะมีราคารีเซลสูงถึง 1,200 ดอลล่าร์ แต่ก็ยังไม่เท่าแจ็คเก็ต Bomber ตัวละ 3,000 เหรียญ ซึ่งตีเป็นเงินไทยก็เหยียบแสน! และถ้าบวกกับประเด็นเรื่องความหลากหลายในการใช้งานที่กล่าวไว้ข้างต้น การเลือกซื้อ Sneakers จากแฟชั่นเฮ้าส์ดังๆ ก็อาจจะเป็นตัวเลือกที่ดีกว่าสำหรับใครหลายๆคน ลองคิดง่ายๆ ถ้าสมมติว่าคนๆหนึ่งอยากจะมี Saint Laurent ใส่ซักชิ้น คิดว่าคนๆนั้นก็คงตัดสินใจได้ไม่ยากว่าซื้อ SL/01 Sneakers (495 ดอลล่าร์) หรือว่าแจ็คเก็ต (5,350 ดอลล่าร์) ดี
พออ่านมาถึงตรงนี้ หลายๆคนก็น่าจะเริ่มเห็นภาพแล้วว่าทำไม Sneakers ถึงเติบโตอย่างรวดเร็วในรันเวย์ จากที่เคยถูกมองว่า เป็นแค่ของเล่นเด็กสตรีท จนมาขึ้นเบาะหน้าขับเคลื่อนวงการแฟชั่น โดยที่กลายเป็นจุดเด่นในแฟชั่นวีค และทิ้งเสื้อผ้าไว้เบาะหลัง
บางคนอาจจะมองว่า Sneakers เป็นแค่เทรนด์ที่เดี๋ยวแปปๆก็ผ่านไป แต่ตัวเลขก็ไม่ได้บอกเราอย่างนั้น อุตสาหกรรมรองเท้ากีฬานั้นมีมูลค่าสูงถึง 75.2 ล้านดอลล่าร์สหรัฐในปี 2015 (อ้างอิง) ซึ่งทั้งหมดนี้ไม่เหมือนกับเสื้อผ้า ตรงที่มันถูกรันโดยกลุ่มบริษัทเพียงหยิบมือเท่านั้น และแถมให้อีกว่าวงการเครื่องกีฬาตอนนี้ เป็นธุรกิจที่เติบโตเร็วที่สุด เท่าที่วงการแฟชั่นเคยมีมา (อ้างอิง)
ถึงมันอาจจะเหนือจินตนาการไปนิด ที่เราจะได้เห็น Nike หรือ adidas มาเปิดรันเวย์เดินกัน แต่ว่าเราก็ได้เห็น Sneakersของทั้งสองแบรนด์ (รวมถึงแบรนด์อื่นๆด้วย) ได้ขึ้นไปอยู่บนรันเวย์ผ่านงาน Collaboration และได้ไปขโมยซีนใน Fashion Week มานักต่อนักแล้ว หลังจากที่ 20 ปีที่แล้ว มันยังเป็นแค่ตัวประกอบ ซึ่งเราก็คิดว่ามันน่าจะไปได้ไกลว่านี้อีก
ในอนาคตเราอาจจะได้เห็น Footwear Week อยู่ข้างๆ Fashion Week ก็ได้
Source: Highsnobiety