หนึ่งในสิ่งที่ขับเคลื่อนวงการแฟชั่นมาอย่างยาวนาน ก็เห็นจะหนีไม่พ้นเรื่องของศาสตร์ Typography อันเป็นส่วนน้อยนิดที่ยิ่งใหญ่ ในการแสดงออกถึงจุดยืนและความหมายของแบรนด์ ที่มีความแตกต่างกันอย่างมากมาย และหมุนเวียน , เปลี่ยนผ่าน ไปจนถึงหยิบยืมรูปแบบมาใช้กันอย่างสนุกสนานตามแต่บริบทที่ได้รับ
ในช่วงที่ผ่านมา พวกเราน่าจะเห็นกันได้อย่างชัดเจนว่า แพล็ตฟอร์มของเสื้อวง Heavy Metal ถูกนำมาใช้อย่างแพร่หลาย และได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก ถึงแม้ว่าแรกเริ่มเดิมที ผู้ที่สวมใส่เสื้อยืดของวง Metallica จะเป็นหนุ่มร็อคผมยาวสายมอสกระจุยกระจายตามคอนเสิร์ต แต่ท้ายที่สุดในปัจจุบัน ผู้ที่สวมใส่กับกลายเป็นแฟนคลับของ Justin Bieber ซะมากกว่า หรือแม้กระทั่งเสื้อ Saint Pablo Merch Tour ของ Kanye West ซึ่งหยิบยืน Font มาจากหนังสือไบเบิล Gutenberg's Bible ที่ถูกเหล่าชาวแก๊ง Chicano gang หยิบยืมไปใช้อีกทีในช่วงปี 70s ซึ่งกรณีที่กล่าวมาข้างต้นก็เป็นตัวอย่างที่ดีของวัฏจักรแฟชั่นที่หมุนเวียนเปลี่ยนผ่านไปอย่างสนุกสนาน
และจากการพูดคุยของทาง HYPEBEAST กับเหล่ากราฟฟิคดีไซน์เนอร์ชื่อดังอย่าง Chris Burnett, Tomohiko Kan, Ryder Ripps, Paul Nicholson และ Dead Dilly ก็จะมาร่วมกันถกถึงประเด็น "คลื่นลูกต่อไป" ของงานดีไซน์เหล่านี้ !
Chris Burnett "Back to Basics"
ผมรู้สึกว่าในวันที่ธุรกิจแฟชั่นเติบโตขึ้น และแข่งขันกันอย่างดุเดือด ทุกสิ่งทุกอย่างถูกนำกลับมาเล่าใหม่อย่างรวดเร็ว เพื่อสนองความต้องการในการบริโภคของมนุษย์ที่มีมากยิ่งขึ้นในปัจจุบัน ยิ่งไปกว่านั้น ดูเหมือนว่ามันจะกลายเป็นเรื่องของ "ใครทำก่อนได้เปรียบ" ไปเสียแล้ว ผมคิดว่าตัวอย่างก็มีให้เราเห็นกันอยู่แล้วเยอะแยะมากมายในสมัยนี้ ไม่ว่าจะเป็น GOLFWANG ที่ใช้ฟอนท์ Arial ธรรมดา กับบ็อกซ์โลโก้สีพาสเทลสดใส หรือไม่ก็ Supreme ที่ใช้ฟอนท์ Futura ของ Barbara Kruger บนโลโก้เอกลักษณ์ของพวกเขา ทุกวันนี้เรื่องของความเด่นชัดในการแสดงออกว่า นี่คือสินค้าของแบรนด์ … จึงเป็นเรื่องที่สำคัญเหนือสิ่งอื่นใด แต่อีกนัยหนึ่งมันก็เป็นเทรนด์ของช่วงนี้ด้วยเช่นกัน
ดังนั้นผมจึงรู้สึกได้ว่า อนาคตของการออกแบบดีไซน์สิ่งเหล่านี้จะ "minimal" มากยิ่งขึ้นลงไปอีก อาจจะเป็นฟอนท์ธรรมดาที่พิมพ์ลงใน Microsoft Word แล้วนำมาทำเป็นโลโก้เลยก็ได้ … ใครจะไปรู้ !?
Tomohiko Kan "LED Displays"
แวบแรกที่ฉันได้เห็นหน้าปกอัลบั้ม "Ghost in the machine" ของวง The Police ซึ่งถูกออกแบบมาในยุคปี 80s ตอนนั้นฉันรู้สึกว่า หน้าปกอัลบั้มนี้เป็นอะไรที่โคตรจะป็อป การใช้สี , ดีไซน์ และรวมไปถึงตัวฟอนท์มันคือสิ่งที่ล้ำสมัยอย่างแท้จริงในยุคนั้น เป็น futuristic ในรูปแบบฟอร์มของแสง LED ตัวแรก ๆ เลยก็ว่าได้ และยิ่งเมื่อได้รู้ความหมายของตัวอักษรคันจิเหล่านี้ ที่พยายามบิดแปลงให้เป็นทรงผมของสมาชิกวงแต่ละคน ก็ทำให้ฉันรู้สึกตื่นเต้นยิ่งขึ้นไปอีก
และสิ่งเหล่านี้ก็เด่นชัดเป็นรูปธรรมที่สุด ด้วยภาพยนตร์เรื่อง Blade Runner (1992) นั่นคือสิ่งที่เป็นปรากฏการณ์ของโลกสิ่งหนึ่งเลยก็ว่าได้ ไม่เคยมีใครทำ Visual ของโลกความเป็นดิสโทเปียแบบนี้มาก่อน กลิ่นอายของเทคโนโลยีที่เต็มเปี่ยม แต่ก็ยังคงจับต้องได้ มันทำให้ฉันสามารถดูภาพยนตร์เรื่องนี้ได้เป็นล้านรอบ เพราะมันสุดยอดจริง ๆ
เรารู้สึกว่าสิ่งเหล่านี้เป็นอะไรที่น่าสนใจมาก และค่อนข้างที่จะมั่นใจว่าสักวันหนึ่ง กลิ่นอายของความเป็น 80s นี้จะกลับมาอย่างเต็มรูปแบบแน่นอน ซึ่งทุกวันนี้ก็ค่อนข้างที่จะเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีแล้ว ฟอร์มของศิลปะแนว Vaporwave ที่นำมาใช้อีกครั้งในมิวสิควีดีโอหลายตัว หลอดไฟนีออนเริ่มกลายเป็นพระเอกของชิ้นงานหลาย ๆ ชิ้น และที่สำคัญ จงอย่าลืมว่าศิลปะ หยิบยืมกันอยู่ตลอดเวลา !
Ryder Ripps "Bad design"
ศิลปะห่วย ๆ นี่แหละที่จะกลับมาอย่างแน่นอน การหยิบยืมสิ่งต่าง ๆ มาใช้อย่างจับฉ่านและเยอะแยะหาจุดเชื่อมโยงไม่ได้ จะเป็นอะไรที่โคตรจะเจ๋งในอนาคต ยกตัวอย่างคือพวกเสื้อยืด Bootleg ทั้งหลายนี่แหละ ที่จะเป็นอะไรที่โดนในอนาคตอันใกล้ เพราะเราเริ่มขยับเข้าใกล้ถึงจุดที่ เราบริโภคแฟชั่นอย่างบ้าคลั่งจนไม่สนเรื่องราวบ้าบอและเนื้อผ้าอะไรต่าง ๆ อีกต่อไปแล้ว และเสื้อผ้า Bootleg ก็เปรียบได้เหมือนกับอาหารขยะเพื่อผู้บริโภค แต่มันอร่อย และผู้คนจะต้องชอบกินมันแน่ ๆ …
Paul Nicholson "Military / Utilitarian"
เรื่องราวการออกแบบในศาสตร์แขนง Typography นั้น เป็นสิ่งที่ก็อปปี้กันมาตลอดเวลาอยู่แล้ว เพราะผมคิดว่ามันเป็นเรื่องของฟังก์ชั่นมากกว่าฟอร์มมาแต่ไหนแต่ไร ซึ่งนั่นก็ตอบโจทย์ที่ว่า "ทำไมถึงมีการขโมยเยอะมากในวงการออกแบบ Typography" นั่นก็เพราะศาสตร์แขนงนี้ ถูกคิดและพินิจพิเคราะห์มาอย่างถีถ้วนแล้วว่า ฟอนท์ที่จะนำมาใช้นั้น สามารถ Fit – in กับแนวทางของมันได้เป็นอย่างดี ยกตัวอย่างให้เห็นชัด ๆ ก็คือ "Military Font" ฟอนท์ที่ใช้กับวงการทหารในสมรภูมิรบนี่แหละ เพราะว่าฟอนท์เหล่านี้มักจะมีขนาดใหญ่ บล็อกที่นำมาใช้สำหรับฟอนท์ชนิดนี้ไม่มีการดัดโค้ง นั่นหมายความว่า ไม่ว่าใครก็สามารถเขียนฟอนท์แบบนี้ได้ เพียงแค่มีบล็อกเท่านั้น ซึ่งเราสามารถเห็นสิ่งเหล่านี้ได้จากวีดีโอเกมส์อย่าง Syria, The Bourne Identity, anti-terrorist squads, Call of Duty, และ The Expanse
DEAD DILLY "Void / Redaction"
ในเมื่อที่ผ่านมาทุกแบรนด์ต่างรักที่จะตัดทอนความเป็นออริจินัล แล้วหยิบยกมาใช้กับสินค้าของตัวเอง ฉันจึงค่อนข้างแน่ใจว่า เทรนด์ Redaction จะต้องโด่งดังในระดับหนึ่งอย่างแน่นอน เพราะการดึงดูดความสนใจจากสิ่งที่คุ้นตา เป็นอะไรที่เวิร์คอยู่แล้ว ยกตัวอย่างเช่นการตัดฟอนท์ของ Metallica ออกแล้วเหลือไว้แค่ขอบ (ซึ่งเป็นงานของฉันเอง) ก็สามารถทำให้ผู้บริโภคตั้งคำถามกับตัวเองได้ว่า "ฉันเคยเห็นโลโก้นี้ที่ไหนนะ" และมันรู้สึกดีเสมอ เวลาที่พวกเขาสามารถตอบคำถามเหล่านี้ได้ด้วยตัวเอง และในขณะเดียวกัน ฟอร์มของโลโก้เหล่านี้ก็เป็นสิ่งที่ถูกคิดขึ้นมาอย่างละเอียดถี่ถ้วนอยู่แล้ว การตัดทอนตัวอักษรออกไปจึงทำงานได้ดีกับสิ่งเหล่านี้ เพราะมันเป็นโลโก้ที่ "ติดตา" คนดูแล้วยังไงละ .
Source : HYPEBEAST