เมื่อปี 2015 ที่ผ่านมาได้มีสารคดีจากทางช่อง CNN พยายามเปิดโปงถึงธุรกิจเสื้อผ้า "ก็อปปี้" ที่แพร่หลายในกรุงเทพมหานครและดูเป็นเรื่องธรรมดาสามัญเสียเหลือเกินในการที่เราจะเห็นวางจำหน่ายสินค้าผิดลิขสิทธิ์พวกนี้ตามสถานที่ต่าง ๆ ตั้งแต่ตลาดนัดละแวกชุมชนธรรมดาไปจนถึงห้างสรรพสินค้ายักษ์ใหญ่ (ซึ่งบางแห่งยังคงยืนยันว่าสินค้าของตนเป็นของแท้ลิขสิทธิ์ ?)
โดยที่ลูกค้าส่วนใหญ่ก็รู้ว่าสินค้าเหล่านี้ไม่ใช่สินค้าลิขสิทธิ์ ซึ่งคำพูดติดปากของเหล่าพ่อค้าแม่ขายประจำชั้นวางห้างร้านเหล่านี้คือสโลแกนว่า "ก็อปเกรด A" หรือ "งาน Mirror เหมือนแท้แต่ไม่ใช่" ซึ่งสินค้าจำพวกนี้มีความหลากหลายตั้งแต่นาฬิกาสวิสยอดฮิตอย่าง Rolex หรือกระเป๋าแบรนด์เนมอย่าง Hermes ที่มักจะมีตำหนิเพียงเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่ทำให้เรารู้ว่าสินค้าชิ้นดังกล่าวไม่ใช่ของแท้เช่น ความผิดเพี้ยนบริเวณป้ายแท็ก หรือ เนื้อผ้าวัสดุที่ใช้ ทว่าในความ "ไม่แท้" ของสินค้าเหล่านี้ก็ยังมีผู้ที่นิยมในสินค้าเหล่านี้อยู่ไม่น้อย
ซึ่งในช่วงปีที่ผ่านมารัฐบาลไทยก็ได้พยายามที่จะปราบปรามสินค้าผิดลิขสิทธิ์เหล่านี้ ว่าด้วยพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ปี พ.ศ. ๒๕๓๗ ซึ่งในปีที่ผ่านมารัฐบาลสามารถกวาดล้างร้านค้าเถื่อนเหล่านี้ได้ทั้งหมด 837 ราย ซึ่งการกวาดล้างธุรกิจผิดกฏหมายในปีเดียวนี้สามารถตีเป็นมูลค่าได้กว่า 170 ล้านบาทไทย
ทว่าที่น่าแปลกใจคือเหตุใดการกวาดล้างครั้งดังกล่าวถึงเป็นเหมือนการตำน้ำพริกละลายแม่น้ำ ? ในเมื่อทุกวันนี้ที่เราเดินอยู่ตามข้างทางเราก็ยังคงเห็นร้านค้าเหล่านี้อยู่เรียงราย ซ้ำยังออกสินค้าใหม่ ๆ ให้ผู้ซื้อได้เลือกสรรได้ในแต่ละวันอย่างไม่ขาดตอน แน่นอนว่าเครือข่ายของสินค้าเหล่านี้มีขนาดมหึมาเกินกว่าที่เจ้าหน้าที่รัฐจะเข้ามาควบคุมได้อย่างเบ็ดเสร็จ เพราะพ่อค้าแม่ค้าที่ตัดสินใจขายสินค้าเหล่านี้มีตั้งแต่รายย่อยระดับแม่บ้านหารายได้พิเศษไปจนถึงเจ้าใหญ่ที่ทำรายได้ต่อเดือนถึงระดับล้านบาทเลยทีเดียว
และจากบทความของ Stephanie Smith-Strickland นักเขียนประจำสำนักเว็บไซต์ไลฟ์สไตล์แอนด์แฟชั่นชื่อดังอย่าง Highsnobiety ที่ได้เดินทางมาประเทศไทย เพื่อที่จะลองซื้อสินค้าพวกนี้ดู !?
เมื่อตัวผู้เขียนได้มีความสงสัยในตัวเลือกของสินค้าที่แม้ว่าจะมีสินค้าที่เรียกว่า "Copy-cat" วางขายกันให้เกลื่อนอยู่ในท้องตลาดกรุงเทพแห่งนี้ ก็กลับมีเพชรเม็ดงามอยู่ในนั้นคือเหล่าสินค้าที่ "ไม่มีวางจำหน่ายอยุ่จริง" เช่น เสื้อ OFFWHITE ที่ผู้เขียนไม่เคยเห็นดีไซน์ดังกล่าวในท้องตลาดมาก่อน หรือแม้กระทั่งกระเป๋าคาดยี่ห้อ Supreme ลวดลายคาโมแบบพิเศษ
และตัวผู้เขียนกลับมีความรู้สึกว่า "เห้ย ! ไอ้สินค้าก็อปพวกนี้มันก็เท่ห์ดีเหมือนกันนี่หว่า !?"
เขาได้เดินท่องเที่ยวไปในตลาดนัดชื่อดังระดับโลกใจกลางกรุงอย่าง "ตลาดนัดจตุจักร" หรือตลาดนัดกลางคืนยอดฮิตอย่าง "ตลาดนัดรถไฟรัชดา" แหล่งช็อปปิ้งยอดฮิตของกรุงเทพมหานครในขณะนี้ ซึ่งแรกเริ่มเดิมทีผู้เขียนตัดสินใจที่จะเสี่ยงโชคที่ตลาดรถไฟเพื่อที่จะหา "สินค้าแท้มือสอง" ซึ่งเขาคิดว่าตัวเขาจะโชคดีอย่างที่ตั้งใจไว้ ทว่าการช็อปปิ้งของเขาก็จบลงที่การได้สวมใส่รองเท้า adidas YEEZY Boost , เสื้อ OFFWHITE และ กระเป๋าคาด Supreme ด้วยงบ 1,500 บาท
และสุดท้ายแล้วเขาก็ได้ภาพถ่ายแฟชั่นเซ็ทเสื้อผ้าปลอมเหล่านี้ที่กรุงเทพ แน่นอนว่าเขามีรสนิยมการเลือกซื้อสินค้าได้ดีเลยทีเดียว !
ตัวผู้แปลเองมิได้ตั้งใจที่จะเดียดฉันท์หรือรังเกียจผู้ที่นิยมสินค้าละเมิดลิขสิทธิ์แต่อย่างใด แต่ตัวผู้เขียนเป็นประชาชนคนไทยที่อยู่ในกฏหมายภายใต้รัฐธรรมนูญไทย ฉะนั้นแล้ว ตัวผู้แปลเห็นว่าสินค้าละเมิดลิขสิทธิ์ไม่ใช่สิ่งที่ถูกต้องไม่ว่าในมุมมองใดก็แล้วแต่ และเป็นสิ่งที่ไม่ยุติธรรมต่อมันสมองของผู้ออกแบบอย่างที่สุด
Source : Highsnobiety