กระแสของ Streetwear ได้เปลี่ยนไปมากในช่วงระยะเวลาสั้นๆ นับตั้งแต่แฟชั่นแนวนี้ได้เกิดขึ้นมา ในยุค 90 โลกของ Streetwear นั้นเต็มไปด้วยเสื้อตัวโคร่ง ยีนส์ขาใหญ่ และหมวกเบสบอล พอมาช่วงปี 2005-2006 เราก็มาเจอกับกระแสเสื้อปรินท์ลายเต็มตัวละลานตา ซึ่งก็วิวัฒนาการอย่างคาดไม่ถึงกลายมาเป็นลุค workwear สุดวินเทจที่ผสมเสื้อโค้ททรงโบราณ ยีนส์ผ้าดิบ และบูท Red Wing ที่แสนจะบึกบึน ทั้งหมดนี้ก็เปลี่ยนไปอีกครั้งเมื่อแรปเปอร์เบอร์ใหญ่อย่าง Kanye West หันมาใส่ sweatpants หนังแท้, A$AP Rocky เรื่มพูดถึง Rick Owens, และคำว่า "Street Goth" กลายมาเป็นคำสามัญประจำบ้าน (อย่างน้อยก็ในวงการแฟชั่น) แทบจะทันที เหล่าบริษัท fast-fashion และมวลชนกระเป๋าหนักไร้รสนิยมก็ฆ่าความขลังของลุคนี้ไป และผลักให้เราหันไปหาลุคคนเมืองผสมกีฬากับสไตล์ Athleisure แทน (ที่ถึงกับได้มี Wikipedia page ของตัวเอง)
ตอนนี้เราก็ใกล้จุดเปลี่ยนผ่านอีกครั้ง หลายๆ คนเริ่มเห็นกลิ่นอายของร็อคแอนด์โรลในจักรวาลสตรีทสุดรักของพวกเรา แรปเปอร์หลายคนหันมาใส่เสื้อยืดจากวงเมทัล (ที่เจ้าตัวอาจะเคยหรือไม่เคยฟังก็ได้) ยีนส์เริ่มมีรอยขาดหลุดรุ่ยกันมากขึ้น ไม่ใช่แค่นั้น แบรนด์ใหม่ๆ ในตลาดก็เริ่มปล่อยเสื้อกราฟฟิคจากโลกดนตรีร็อคในอุดมคติออกมา
การตัดสินใจของแบรนด์และดีไซน์เนอร์เหล่านี้กำลังผลัก Streetwear ออกจากแก่นดั้งเดิมของมันอย่างเสื้อผ้าและรองเท้ากีฬา แต่ก็ยังคงไว้ซึ่งความรู้สึกดิบ ๆ การตลาดที่ถึงเนื้อถึงตัว และทัศนคติที่มองว่าตัวเองเป็นผู้นำกระแส มันคล้าย ๆ อารมณ์ที่ผสมความเป็น Supreme กับวงมหาลัยยังไงยังงั้น
Streetwear ตอนนี้เหมือนจะไม่เลือกที่รักมักที่ชังกับแหล่งแรงบันดาลใจใหม่นี้เท่าไหร่นัก มันดึงสไตล์และอารมณ์มาจากทั้ง punk, grunge, indie ฯลฯ เป็นความรู้สึกใหม่ที่อบอุ่นอย่างบอกไม่ถูกเมื่อแบรนด์หันเข้าหาศิลปินที่ใช้กีตาร์เป็น ไม่ใช่เป็นแต่แรปอย่างเดียว
เพื่อความสะดวกต่อการพูดถึงสไตล์นี้ และเนื่องจากมันยังไม่มีชื่อติดหูที่ทุกคนใช้ร่วมกัน บทความนี้ก็จะขอเรียกลุคนี้ว่า grungewave (grunge – แนวดนตรีร็อคประเภทนึง, wave – กระแส)
Fear of God
ในขณะที่มหานครนิวยอร์คนั้นเป็นบ้านเกิดทางจิตวิญญาณของ Streetwear มาอย่างช้านาน คลื่นร็อคแอนด์โรลของ grungewave กลับมีศูนย์กลางอยู่ที่แคลิฟอร์เนี่ย ตัวอย่างนึงที่เห็นได้ชัดคือยี่ห้อ Fear of God ของเจอร์รี่ ลอเรนโซ่ (Jerry Lorenzo) ที่นำไอเทมชาวเมทัลยุค 80 อย่างกางเกงยีนส์ขาดๆ เสื้อลายสก็อต และแจ็คเก๊ตยีนส์มาเติมสัดส่วนทรงที่เกินขนาด ผ้าเนื้อดี และรายละเอียดเล็กน้อยที่ทันสมัย มันคืออะไรที่วง Metallica คงจะใส่จริง ๆ สมัย คลิฟ เบอร์ตัน (มือเบสของวงผู้ล่วงลับไปเมื่อปี 1986) ยังมีชีวิตอยู่ แต่มันก็ให้ความรู้สึกของความเป็นปัจจุบันอย่างเห็นได้ชัด ทั้งนี้ก็ต้องขอบคุณเซนส์ของลอเรนโซ่ที่สามารถผสมความเป็น Hi-end กับ Lo-end รวมกันได้อย่างลงตัวไม่มีที่ติ Fear of God สามารถขึ้นไปประดับอยู่บนศิลปินท็อปคลาสผู้ชี้ทางกระแสหลายๆคน ไม่ว่าจะเป็น Kanye, Justin Bieber, และเหล่าคนตระกูล Kardashian พูดได้อย่างไม่ต้องคิดเลยว่าแบรนด์ของเขาคือผู้ฟื้นคืนชีพกระแส Rock 'n' Roll ในแฟชั่นตอนนี้
ตัว Jerry Lorenzo เองก็เป็นผู้คลั่งไคล้ของสะสมรุ่นวินเทจของวงการร็อค คงจะไม่ผิดนักถ้าจะบอกว่าเขาเป็นต้นเหตุให้บรรดาดาราฮอลลีวู้ดนึกแปลกใส่เสื้อวงร็อคย้อนยุค ซึ่งเอาจริง ๆ มันก็คือแฟชั่นชวนเบ๊ปากประจำปี 2016 ซึ่งมาแทนเทรนด์เครื่องประดับอินเดียแดงตามงาน Coachella เมื่อไม่กี่ปีก่อน สไตล์การดีไซน์ของเหล่าวงร็อคยุค 90 นั้นมีความทรงพลังในตัวของมันเองอย่างไม่ต้องสงสัย แต่สิ่งที่ชวนฉงนคือการได้เห็นเหล่าผู้มีอันจะกินในวงการบันเทิง และแฟชั่นยืมเอาสัญลักษณ์ของความเป็น 'กบฏ' พวกนี้มาจากเหล่า Metalhead และมันก็ดูเป็นการยืมที่ไม่จริงใจแม้แต่นิดเดียว เพราะเหล่า Metalhead ก็น่าจะเคยถูกแฟชั่นนิสต้าเหล่านี้ล้อเลียนเรื่องการแต่งตัวมาไม่มากก็น้อย (เราให้อภัยคุณได้ถ้าคุณรู้ท่อนเปิดของ Master of Puppets)
MIDNIGHT STUDIOS
ถ้าหาก Fear of God คือเรื่องของความ Thrash เวอร์ชั่น Bay Area (เขตอ่าวซานฟรานซิสโก) สำหรับชนชาว Instagram เชน กอนซาเลส (Shane Gonzales) ของ MIDNIGHT STUDIOS ก็เลือกที่จะโฟกัสไปยังอีกยุคสมัยนึงโดยหันความสนใจไปที่ลอนดอนยุค 70 แทน Gonzales (ซึ่งเป็นชาว LA เช่นเดียวกับ Lorenzo) เลือก Sid Vicious (มือเบสวง Sex Pistols) เป็นแรงบันดาลใจของแบรนด์เขา ใน collection Fall/Winter ของปี 2015 เขาได้ร่วมงานกับตากล้องแนวพังค์ Steve Emberton เพื่อถ่ายภาพเสื้อผ้าลายมือเบสผู้นี้ (ตามภาพด้านบน) ไม่ว่าจะเป็นเสื้อยืด เสื้อฮูดดี้ เสื้อเชิ้ต หรือแม้กระทั่ง biker jacket
คอลเลคชั่น Spring Summer ปี 2015 ของ Gonzales เองก็มีเสื้อยืดที่ได้แรงบันดาลใจมาจากวง PiL ซึ่งเป็นวงของ Johnny Rotten หลังเขาออกจากวง Sex Pistol (ที่เขาเคยเป็นนักร้องนำให้) นอกจากนี้ PROJECT MIDNIGHT ยังมีเสื้อ parka jacket หางยาวที่ทำร่วมกับแบรนด์ 424 และ monkey time อยู่รุ่นนึงมันมีลายสไตล์ตัดแปะหยาบๆ ที่ให้กลิ่นอายของความเป็น punk ผสม DIY อยู่ (เป็นส่วนผสมที่น่าจะไม่เคยมีอยู่จริง) แบรนด์ของ Gonzales นั้นเป็นชื่ออีกชื่อนึงที่กำลังแข็งแกร่งขึ้นเรื่อยๆ ในวงการแฟชั่น West Coast (เขตชายฝั่งตะวันตกอย่าง L.A. และ San Francisco) PROJECT MIDNIGHT สามารถนำเสนอสไตล์ดิบๆ ได้อย่างน่าสนใจด้วยอารมณ์ที่คล้าย UNDERCOVER โดย Jun Takahashi ยุคแรกอยู่ไม่น้อย (Gonzales เป็นนักสะสม UNDERCOVER ตัวยงด้วย)
HOMME BOY
ในขณะเดียวกัน แบรนด์ HOMME BOY ซึ่งมาจาก LA เหมือนกันเองก็กำลังสร้างแนวทางของตัวเองอยู่ ด้วยการอ้าแขนรับความเละเทะสไตล์ grungewave แบบสุดตัว HOMME BOY มีเสื้อยืดที่ดูจะขาดมีขาดแหล่ พร้อมชายเสื้อแหว่งเหวอแหวะ และลายกราฟฟิคที่จินตนาการ Sid Vicious จาก Sex Pistol อยู่บนเวทีเดียวกับ Kurt Cobain แห่งวง Nirvana ไม่ใช่แค่นั้น คอลเลคชั่นที่ 2 ของ HOMME BOY ยังถูกตั้งชื่อว่า Blew ตามชื่อเพลงแรกของ Bleach อัลบั้มเปิดตัววง Nirvana ด้วย
Pleasures
Pleasures นั้นเลือกที่จะประดับสินค้าของตัวเองด้วยเนื้อความจากจดหมายลาตายของ Kurt Cobain (ก็ไม่เคยมีใครบอกว่า grungewave เป็นอะไรที่มีคลาสล่ะนะ) นอกจากเสื้อยืดหลายวง อย่าง New Order ไปจนถึง Rage Aginst the Machine แบรนด์Pleasures ก็มีสินค้าอย่างหมวกแขวะนาย Morissey ด้วย (ศิลปินวงอินดี้ the Smiths ผู้เคยไปอยู่บนเสื้อของ Supreme)
Babylon LA
สำหรับคนอยากได้สไตล์ที่ตรงสายจริง ๆ Babylon LA นั้นเป็นผลงานของ Lee Spielman ผู้เป็นนักดนตรีร็อคให้กับวง Trash Talk มามากกว่า 10 ปี แบรนด์ของเขามีกราฟฟิคของ Discharge วงพังค์ชื่อดัง นอกจากนี้มันยังผสมแนวคิดต่อต้านตำรวจ (ที่เห็นได้ตลอดในวัฒนธรรม Rock n Roll) เข้าไปด้วย
Nervous Juvenile
ทีมผู้ก่อตั้ง Nervous Juvenile (ซึ่งหนึ่งในนั้นคือ Nicholas Wojciechowski เจ้าของร้าน streetwear สุดฮอท CNCPTS) เองก็มีประสบการณ์ในวงการ punk มาเหมือนกัน ทีมนี้ได้เจอกันผ่านงานอีเวนท์เพลง วงของ Nick เองก็มีสัญญากับค่าย Deathwish Records อีกด้วย (มันเป็นค่ายเพลงซึ่งรวมเพลงที่มีเอกลักษณ์พอสมควร คล้ายๆกับการได้เป็นแบรนด์ขึ้น Dover Street Market ของชาวเพลงฮาร์ดคอร์) เช่นเดียวกับแบรนด์สายเดียวกัน Nervous Juvenile เองก็มีเสื้อผ้าที่อ้างอิงถึง Sex Pistols, Morissey, และ Discharge (คงเป็น lineup ที่เจ๋งน่าดู)
ก่อนที่จะไปกันต่อ เราก็ควรจะคำนึงไว้เสมอว่ากระแสรื้อฟื้นวัฒนธรรมร็อคนี่ไม่ใช่อะไรที่ใหม่เลย มันเกิดขึ้นมานานก่อนที่ Kanye West จะหันมาใส่เสื้อ Metallica เสียอีก
Hedi Slimane
2 ดีไซน์เนอร์คนสำคัญของยุคนี้ Hedi Slimane (Dior Homme, Saint Laurent Paris) และ Raf Simons (Raf Simons, Jil Sander, Christian Dior) ต่างเป็นผู้ที่ผสมสไตล์ชาวร็อคเข้ากับการแต่งตัวของตัวเองมาอย่างช้านาน Slimane มักจะใส่เสื้อแจ็คเก๊ตหนัง ยีนส์ที่ขาเล็กมาก ๆ และบูท Chelsea จะให้เรียกมันเป็นจดหมายรักต่อวัฒนธรรม Rock ในรูปเสื้อผ้าก็คงไม่เกินเลยอะไร นอกจากนี้เขายังชอบใช้ศิลปินที่เขาชื่นชมเป็นนายแบบ lookbook และ runway ให้กับ Saint Laurent ด้วย
สำหรับ Raf Simons ดนตรีเองก็เป็นเหมือนแหล่งแรงบันดาลใจไร้ก้นบึ้งให้กับเขา เขาเคยใช้เพลงจากวงร็อคหลาย ๆ วงมาเป็น soundtrack ให้กับ collection เสื้อผ้าของเขาหลายครั้ง ไม่ว่าจะเป็น Smashing Pumpkins (Fall Winter ปี 1997) และ Pink Floyd (Spring Summer ปี 1999) ใน collection Fall Winter 2001 เขาก็มี Richey Edwards (มือกีตาร์ผู้สาบสูญของวง Manic Street Preachers) เป็นแรงบันดาลใจให้ collection ด้วย ไม่ใช่แค่นั้น งานดีไซน์ที่โด่งดังที่สุดของเขาก็เป็นลายฝีมือ Peter Saville กราฟฟิคดีไซน์เนอร์ชื่อดัง ที่ดึงส่วนผสมมาจากงาน artwork ของวง New Order (Fall Winter 2003) และ Joy Division (Fall Winter 2004)
Parkas ของ Raf Simons ฝีมือ Peter Savile ถ่ายโดย Nicholas Maggio / Grailed.com
กระแสนี้ไม่ได้จำกัดอยู่แค่ในแฟชั่นโลกตะวันตกเท่านั้น แบรนด์ญี่ปุ่นมีชื่อเสียงมานานแล้วกับการนำเทรนด์นอกกระแสของอีกซีกโลกมาตีความใหม่ เลยไม่ใช่อะไรแปลกที่จะเห็นแบรนด์โตเกียวจำนวนมากนำความเป็นกบฏชาวร็อคมาละเลงใส่เสื้อผ้าของตัวเอง UNDERCOVER, Number (N)ine, AFFA, Lad Musician, LUKER by NEIGHBORHOOD และ Blackmeans ล้วนแต่เคยดึงแรงบันดาลใจมาจากโลก punk ยุค 70 แม้แต่ในชีวิตส่วนตัวของพวกเขาก็ไม่เว้น Jun Takahashi ดีไซน์เนอร์ของ UNDERCOVER นั้นเคยเล่นให้วง FYI ซึ่งเป็นวงที่ได้รับแรงบันดาลใจมาจาก Sex Pistols ด้วย
ท้ายที่สุดแล้ว กางเกงยีนส์ขาด ๆ สไตล์เซอร์ ๆ และกราฟฟิคย้อนยุคนั้นไม่ใช่อะไรใหม่เลย พวกมันเป็นแค่หลักฐานบ่งชี้การวิวัฒนาการของ streetwear ออกจากขอบเขตเดิม ๆ อย่างดนตรี hip hop และรองเท้า sneakers มาคิดดูแล้ว คงไม่มีอะไรที่สะท้อนทัศนคติเบี้ยล่างของ Streetwear ได้ดีเท่าดนตรีสาย Rock อีกแล้ว ทั้งสองวัฒนธรรมล้วนแต่มีความดิบในตัวเอง ปรัชญาขวางโลก และกลุ่มแฟนพันธ์แท้ที่พร้อมจะตั้งคำถามความจริงใจของศิลปินทุกครั้งที่มีโอกาส
ภาพ Kurt Cobain จากปี 1993 ซึ่งก็ดู 2016 อยู่ไม่น้อย /Jesse Frohman
ในขณะเดียวกัน เราควรจะทำความเข้าใจกระแสรื้อฟื้นวัฒนธรรมของ Grungewave ด้วย วัฒนธรรมวัยรุ่นยุคออนไลน์นั้นเปลี่ยนไปเปลี่ยนมาและไม่คงที่ ซึ่งมันต่างกับเมื่อสมัยที่ไอค่อนชาว Rock เหล่านี้ยังมีชีวิตอยู่มาก ทั้ง Sid Vicious, Kurt Cobain และ James Hetfield ในช่วงที่พวกเขากำลังสร้างตัวเองขึ้นมาเป็นมหาอำนาจทางดนตรี คุณต้องทุ่มเทสุดตัวให้โลกใบย่อยที่คุณอยากเข้าหา ถ้าคุณไม่ได้เข้าถึงมันไปเลย คุณก็ไม่เกตมันเลยแม้แต่นิดเดียว ไม่มีช่องว่างระหว่างกลาง ซึ่งมันต่างกับยุคสมัยนี้มาก social media, smarphones และอินเตอร์เนตล้วนมีส่วนช่วยให้เราเข้าหาและผละตัวออกจากดนตรี แฟชั่น และศิลปะหลายอย่างได้พร้อม ๆ กันอย่างรวดเร็วโดยแทบจะไม่มีขีดจำกัดทางพรมแดนหรือภาษาเลย วัฒนธรรมนอกกระแสในยุคอินเตอร์เน็ต ไม่ว่าจะเป็น normcore หรือ health goth ล้วนแต่ตื้นเขินและมาเร็วไปเร็ว มันถูกสร้างขึ้นโดยวัยรุ่นที่มีไฟแรงแต่สมาธิสั้น เป็นกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่เคยชินกับการเข้าถึงอะไรทุกอย่างอย่างรวดเร็วและง่ายดาย มันต่างจากเหล่ากลุ่มก้อนชาว punk, goth หรือ metal สมัยก่อนอย่างมาก เมื่อผู้สนใจไม่ต้องทุ่มทั้งกายและใจให้มันอย่างเต็มตัวเหมือนสมัยก่อน ผลลัพธ์ที่ออกมาก็เป็นได้แค่ภาพเหมือนลาง ๆ ของสิ่งที่คนกลุ่มนึงเคยอยู่และตายเพื่อมัน โลก Streetwear ตอนนี้อาจจะสนใจกีตาร์ แต่มันคงเป็นได้แค่ของเล่นของประดับชั่วคราวก่อนโลกใบนี้จะหันไปหาอย่างอื่นที่ใหม่กว่าสดกว่า
Credit : Highsnobiety
Author : Poompat Tim Kongboonma