[S4S]Brewed Denim #13 : History of Washed Jeans Part 1
ก่อนจะเข้าสู่เนื้อหาอยากจะบอกว่าจนถึงตอนนี้ก็ถือเป็นตอนที่ 13 ของ Brewed Denim แล้ว ถ้านับเวลาตั้งแต่เริ่มเขียนคอนเทนต์นี้ครั้งแรกก็ร่วมๆสองปีแล้ว บางช่วงก็หยุดพักยาวไปบ้าง สลับไปรีวิวกางเกงยีนส์รุ่นต่างๆบ้าง จนถึงตอนนี้ก็เขียนเรื่องต่างๆเกี่ยวกับกางเกงยีนส์มาก็เยอะ แต่ส่วนมากจะเกี่ยวกับยีนส์ผ้าดิบซะส่วนใหญ่ แต่ผมเชื่อว่าคนชอบยีนส์หลายๆคนก็น่าจะมี หรืออย่างน้อยก็เคยมี Washed Jeans หรือกางเกงยีนส์ผ้าฟอกติดตู้เสื้อผ้ากันบ้างแน่ๆ
สำหรับเรื่องกางเกงยีนส์ผ้าฟอกนั้นถือได้ว่าเป็นหัวข้อใหญ่ที่มีหลายแง่มุมที่น่าจะนำมาพูดคุยกัน ดังนั้นในหัวข้อนี้จะไม่จบลงแค่ในตอนนี้นะครับ เพราะมันอาจจะยาวเกินไป เอาล่ะเกริ่นนำกันมาเยอะแล้ว ขอเริ่มต้นเรื่องด้วยที่มาของกางเกงยีนส์ผ้าฟอกกันเลยดีกว่า
กางเกงผ้ายีนส์ผ้าฟอกนั้นเป็นคำเรียกที่ค่อนข้างกว้างของรูปแบบกางเกงยีนส์ชนิดหนึ่ง ในความหมายที่คนทั่วไปเข้าใจกันก็คือกางเกงที่ถูกทำด้วยกระบวนการต่างๆให้เกิดร่องรอยบนตัวกางเกง รวมถึงสีของเนื้อผ้าให้แตกต่างไปจากกางเกงผ้าดิบสีเข้ม โดยรูปแบบการฟอกที่แตกต่างกันก็ให้ผลลัพธ์ที่ต่างกันด้วย ต้นกำเนิดของการฟอกกางเกงยีนส์นั้นต้องย้อนกลับไปช่วงปี 1950 ในปีนั้น Donald Freeland ซึ่งเป็นพนักงานของบริษัทผ้าซึ่งภายหลังได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของแบรนด์ Levi’s ได้คิดค้นกรรมวิธีการฟอกยีนส์เรียกว่า Stone-washing ซึ่งเป็นการนำกางเกงยีนส์เข้าเครื่องปั่นผ้าที่มีก้อนหินมากมายใส่อยู่ในนั้น ผลที่ได้คือกางเกงยีนส์จะมีร่องรอยเหมือนผ่านการใช้งาน มีสีที่อ่อนลง รวมถึงเนื้อผ้าจะนุ่มสบายมากขึ้น
Pumice Stone หรือหินภูเขาไฟซึ่งใช้ในการทำ Stone-washing
ตัวอย่างกางเกงที่ผ่านการ Stone-washing
วิธีการฟอกแบบ Stone-washing นี้ได้รับความนิยมอย่างมากช่วงปี 1970 อย่างไรก็ตามการฟอกด้วยวิธีนี้ต้องใช้ Pumice Stone หรือหินภูเขาไฟซึ่งต้องนำเข้าจาก Italy ,Greece และ Turkey ทำให้มีค่าใช้จ่ายสูง จึงเริ่มมีการพัฒนากรรมวิธีโดยการใช้น้ำยาเคมีเข้ามาช่วยเพื่อลดปริมาณการใช้ Pumice Stone ลง จนต่อมาช่วงปี 1980 ความนิยมจึงเริ่มเปลี่ยนไปที่การฟอกแบบ Acid Wash หรือการใช้กรด และน้ำยาเคมีในการฟอก(ไว้จะมาขยายความการฟอกแบบในตอนถัดไปครับ) จนกระทั่งปี 2000 การฟอกแบบ Stone-washing ก็กลับมาได้รับความนิยมอีกครั้งแต่เพิ่มในส่วนของการทำ Pre-made hole(การทำให้ขาดเป็นรู) การทำให้ปลายขารุ่ยๆ รวมถึงเรื่องรอยเฟดด้วยการ Sandblasting( การเป่าด้วยเครื่องพ่นทราย) ก่อนเข้าสู่กระบวนการ Stone-washing ถ้าพูดยกตัวอย่างง่ายๆให้เห็นภาพ กางเกง Stonewash ยุค 70 ก็คือกางเกงยีนส์สีอ่อนเรียบๆทั้งตัวสไตล์ Levi’s ส่วนกางเกงยุค 2000 ก็คือ ที่ฟอกสีซีดๆขาดๆเซอร์ๆนั่นเอง
วิธีการฟอกหลักๆนั้นแบ่งออกเป็นสองวิธีดังนี้
1.ฟอกด้วยงานมือ สำหรับการฟอกด้วยวิธีนี้มีทั้งใช้มือเป็นหลัก รวมถึงใช้ทั้งการขัดมือผสมกับฟอกด้วยสารเคมี แต่หลักๆคือการใช้มือในการขัด ตัด ขูดลงไปบนตัวกางเกง สำหรับโรงงานใหญ่ๆที่มีความชำนาญจะมีเครื่องมือ และแท่นสำหรับเข้ารูปกางเกงไว้เพื่อตกแต่งแต่ละส่วนไม่ว่าจะเป็น เข่า ปลายขา หน้าขา แยกกันไปเลย ซึ่งจะทำให้การฟอกออกมาดูมีมิติ และมีความคล้ายคลึงกับกางเกงผ้าดิบที่ผ่านการใส่จริงมากกว่าการใช้เครื่องปั่นฟอก
ข้อดีของวิธีนี้คือตัวเนื้อผ้าของกางเกงจะยังอยู่ในสภาพที่ดีมากใกล้เคียงกับผ้าดิบ ได้ความรู้สึกหนาแน่นเวลาสัมผัสเนื่องจากตัวกางเกงไม่ได้สัมผัสกับน้ำยาเคมี
เครื่องมือต่างๆในการฟอกกางเกงยีนส์ด้วยมือ
2.ฟอกด้วยน้ำยาเคมี การฟอกด้วยวิธีนี้จะใช้การมาร์กตำแหน่งริ้วรอยและปิดทับไว้ด้วยแถบสติกเกอร์ก่อนจะนำไปเข้าเครื่องปั่นที่ภายในเครื่องจะมีหินขัด และน้ำยาเคมีเพื่อให้สีของกางเกงหลุดออกเฉพาะตำแหน่งที่ต้องการ จากนั้นนำมาตกแต่งให้เกิดร่องรอยอื่นๆต่อตามต้องการ วิธีนี้เหมาะกับกางเกงฟอกที่ต้องการร่องรอยในแบบที่พิเศษกว่าการใช้มือทำรวมถึงมีค่าใช้จ่ายในการฟอกที่ถูกกว่า แต่ข้อเสียคือคุณลักษณะของเนื้อผ้าจะเปลี่ยนไปบ้าง เช่นผ้าบางลง หรือเปื่อยกว่าการขัดด้วยมือ
เครื่องฟอกกางเกงยีนส์แบบ Stone-washing
จุดมุ่งหมายในการฟอกกางเกงยีนส์นั้นมีทั้งต้องการให้ได้กางเกงที่สีอ่อนลง หรือแต่งเติมลวดลายต่างๆลงไปบนตัวกางเกงเพื่อให้แตกต่างจากกางเกงผ้าดิบทั่วๆไป แต่ก็มีอีกมากที่ตั้งใจทำเพื่อให้เหมือนกางเกงผ้าดิบที่ผ่านการใส่มาเป็นระยะเวลานาน
การจะฟอกกางเกงจากกางเกงยีนส์ผ้าดิบใหม่ๆให้เหมือนกับกางเกงที่ผ่านการใส่มาแล้วนั้น เป็นเรื่องที่ทำได้ค่อนข้างยากหากต้องการจะให้เหมือนจนถึงระดับที่แยกด้วยสายตาไม่ออก แต่ทั้งนี้หากเป็นโรงงานที่มีความชำนาญในด้านนี้เป็นพิเศษ เช่น โรงงานฟอกกางเกงในประเทศญี่ปุ่นนั้นถือว่าทำได้ใกล้เคียงในระดับ 90% เลยครับ
ขอยกตัวอย่างกางเกงฟอกกางเกงโดยมีจุดประสงค์ให้เหมือนกางเกงยีนส์ต้นแบบกันซักเล็กน้อยแล้วกัน หลายๆคนที่ชื่นชอบในเรื่องกางเกงยีนส์ อาจจะเคยได้เห็นกางเกงรุ่นนี้ผ่านตากันมาบ้าง นั่นก็คือ Nudie Stonemason Replica ที่มีต้นแบบจากกางเกงของช่างก่ออิฐ ที่ใส่ทำงานทุกวันเป็นระยะเวลา 9 เดือนเต็ม
ตัวกางเกงนั้นจะมีทั้งร่องรอยการเฟด รอยขาด และการซ่อมแซมต่างๆ โดยทาง Nudie Jeans เลือกที่จะทำการจำลองกางเกงตัวนี้ขึ้นมาโดยปรับเปลี่ยนรายละเอียดบางส่วนบนตัวกางเกงไปบ้าง เดี๋ยวเราลองมาดูกางเกงตัวจริงกันก่อน
ตัวกางเกงเป็นทาง Sharp Bengt(ปัจจุบันเลิกผลิตไปแล้ว) ที่มีเอกลักษณ์อยู่ที่ร่องรอยขาดเปื่อยบริเวณหน้าขาใกล้กระเป๋าซึ่งเกิดจากการยกอิฐขนย้ายไปมาจนเสียดสีกับกางเกงบริเวณนี้ นอกจากนั้นก็ยังมีร่องรอยขาดและซ่อมด้วยผ้าเดนิมบริเวณหัวเข่า ซึ่งเกิดจากการคุกเข่าขัดเงาหินกับพื้น
รอยขาดและการซ่อมแซมบริเวณกระเป๋าด้านหน้า
ร่องรอยความเก่าของป้ายหนัง และหูเข็มขัด
ร่องรอยขาด และการซ่อมแซมบริเวณหัวเข่า
รอยเฟดบริเวณหลังหัวเข่า
เนื่องจากทรง Sharp Bengt นั้นเลิกผลิตไปแล้วทาง Nudie Jeans จึงปรับให้ตัว Replica(จำลอง) ของกางเกงตัวนี้เป็นทรง Grim Trim ซึ่งจะเป็นทรงที่ช่วงขาเล็กกว่าแทน เมื่อเรามาดูที่ตัวกางเกงจะพบว่าส่วนของรอยขาด รอยเย็บริเวณขอบกระเป๋าหน้านั้นทำออกมาได้ดีพอสมควรเลย เช่นเดียวกับร่องรอยบริเวณหัวเข่า แต่จะสังเกตได้ว่ารอยเฟดที่มีลักษณะเป็นเส้นๆบริเวณข้อเท้า และหลังเข่านั้นยังทำได้ไม่สวยเป็นธรรมชาติเหมือนกับกางเกงตัวต้นแบบ ซึ่งส่วนตัวผมว่ารอยเฟดลักษณะนี้ฟอกยากที่สุด ในกรณีที่ต้องการให้ใกล้เคียงที่สุดนั้นต้องค่อยๆใช้มือแต่งเอาโดยช่างที่ชำนาญ แต่อย่างไรก็ตามกางเกงรุ่นนี้ถือเป็นกางเกงที่ฟอกออกมาได้สวยงามมากที่สุดรุ่นหนึ่งของ Nudie Jeans เลยทีเดียว
Nudie Stonemason Replica รุ่นที่ผลิตขายจริง
หากจะพูดถึงแบรนด์หนึ่งที่โดดเด่นในเรื่องกางเกงยีนส์ฟอกที่เน้นความเซอร์ในระดับที่มีการทำให้ขาดและปะด้วยผ้านั้น ในรอบ 2 ปีมานี้คงต้องจะต้องมีชื่อของ FDMTL หรือ Fundamental จากประเทศญี่ปุ่นอยู่ด้วยแน่ๆ เพราะแบรนด์นี้นอกจากจะใช้เทคนิคการฟอกที่ทำให้ตัวกางเกงดูเหมือนเก่าจากการใส่แล้ว ยังมีการเล่นลูกเล่นโดยทำให้เกิดรอยขาด และซ่อมแซมด้วยชิ้นผ้าหลากชนิด ซึ่งทำให้เกิดความแตกต่างไปจากกางเกงยีนส์ฟอกทั่วๆไป แต่ก็แน่นอนครับว่าการทำแบบนี้ย่อมส่งผลให้ต้นทุนสูงไปกว่าปรกติ แต่สำหรับใครที่ชอบแนวนี้ผมว่าก็คุ้มกับสิ่งที่ได้รับนะครับ
กางเกงตัวทางซ้ายใช้การปะรองผ้าบริเวณที่ขาดด้วยผ้ายีนส์ดิบตัดกับสีที่ซีดของกางเกงโดยรวม ในขณะที่กางเกงตัวทางขวาใช้เป็นผ้าลาย Native American สีสด สร้างความโดดเด่นให้กับตัวกางเกงได้เป็นอย่างดี
จากรูปตัวอย่างจะเห็นได้ว่ากางเกงยีนส์ที่ฟอกมาอย่างดีนั้น จะให้ความรู้สึกที่ใกล้เคียงกับกางเกงที่เก่าตามธรรมชาติได้มากทีเดียว
สำหรับ Brewed Denim ในตอนนี้ขอพักไว้ตรงนี้ก่อน ในตอนหน้ายังมีกางเกงยีนส์ผ้าฟอกอีกหลายรูปแบบจะมาแนะนำให้รู้จักกันครับ เชื่อว่าจะต้องมีซักแบบนึงที่ถูกใจกันแน่ๆ ใครที่เน้นผ้าดิบมาตลอดก็ลองดูนะครับเพราะมันช่วยเบรกการแต่งตัวของเราให้หลากหลาย และลดความจำเจลงได้ ที่สำคัญเลยใส่สบายมากๆครับ