Brewed Denim #12 : Repair your own pairs.
เชื่อว่าเพื่อนๆที่มีประสบการณ์ในการปั้นยีนส์นั้นจะต้องเคยพบเจอกับการเปื่อยขาดของกางเกงยีนส์ตัวเก่งกันบ้างแน่ๆ บางครั้งอาจจะเป็นการขาดเนื่องจากการใช้งานมาเป็นเวลานาน แต่บางครั้งก็อาจจะมาจากอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นโดยไม่ได้ตั้งใจ สำหรับ Brewed Denim ในตอนนี้จะมาแนะนำหลากหลายวิธีในการซ่อมแซมกางเกงยีนส์ ที่บางทีมันอาจจะกลายเป็นการสร้างความสวยงาม และลักษณะเฉพาะให้เกิดขึ้นบนตัวกางเกงไปเสียด้วยซ้ำ
ก่อนที่จะไปพูดถึงวิธีการซ่อมแซม เรามาดูกันก่อนว่ารอยขาดบนตัวกางเกงยีนส์นั้นส่วนมากจะมีลักษณะแบบไหนกันบ้าง โดยแบบแรกนั้นเป็นการขาดในลักษณะขาดเปื่อย ซึ่งการขาดในลักษณะนี้เป็นเรื่องปรกติของการใช้งานกางเกงยีนส์ ที่ถึงแม้ว่ากางเกงยีนส์จะตัดเย็บจากผ้าที่มีความหนาและทนทาน แต่เมื่อใส่ทำกิจกรรมต่างๆ และซักไปเรื่อยๆนั้นตัวผ้าของกางเกงจะบางลง จนเปื่อยขาดได้ในที่สุด หรืออีกทางนึงที่เป็นตัวเร่งให้เกิดการขาดในลักษณะนี้คือการใส่กางเกงที่เล็กเเป็นพิเศษ โดยเฉพาะกางเกงทรง Skinny หรือ การใส่กางเกงทรงอื่นๆแต่มีความแน่นช่วงต้นขาเนื่องจากผู้สวมใส่เป็นคนที่มีต้นขา
ทรง Skinny เป็นกางเกงที่มีโอกาสขาดบริเวณเป้ามากที่สุด
การขาดลักษณะนี้จริงๆเกิดได้ทั่วตัวกางเกง แต่ที่เกิดได้ง่าย และบ่อยที่สุด คือ บริเวณเป้ากางเกง และหัวเข่า เนื่องจากสองจุดนี้เป็นตำแหน่งที่กางเกงยีนส์เกิดการเสียดสีมากที่สุด(ใครที่ใส่กางเกงแบบรัดต้นขา พออ่านมาถึงตรงนี้น่าจะนึกออกเลย) ลักษณะเด่นคือบริเวณรอยขาดจะมีลักษณะเปื่อยเป็นขุยๆ
อาการเริ่มต้นของการเปื่อยขาดบริเวณเป้ากางเกง
การขาดอีกลักษณะนั้น คือ การขาดแบบฉีกขาด ซึ่งแบบนี้ส่วนมากเกิดจากการโดนเกี่ยวจากวัตถุต่างๆ ลักษณะรอยขาดจะค่อนข้างเรียบเหมือนรอยตัด บางครั้งเป็นรอยที่ใหญ่และยาวมาก
ลักษณะการขาดแบบฉีกขาด
วิธีการแก้ไขนั้นในเบื้องต้นถ้าต้องการซ่อมแซมให้กางเกงยีนส์กลับมามีลักษณะใกล้เคียงก่อนการขาดสามารถทำได้ด้วยวิธีดังต่อไปนี้
1.การชุน วิธีนี้เหมาะกับการซ่อมแซมแผลเล็กๆที่เพิ่งเริ่มเกิดขึ้นบนตัวกางเกง ข้อดีคือจะแทบไม่เห็นร่องรอยการซ่อม เรียกว่าเนียนเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น เพราะวิธีการชุน ทำโดยใช้ด้ายสีเดียวกับเนื้อผ้า เย็บสานกันจนเป็นเนื้อเดียวกับเนื้อผ้าเดิม เพื่อปกปิดรอยขาด
รอยขาดเล็กๆที่กิดจากการเปื่อยของเนื้อผ้า
ลองพลิกกางเกงตัวเก่งดู ถ้าเริ่มมองเห็นรอยเปื่อยแบบผ้าบางๆใกล้จะขาด ให้นำกางเกงไปหาช่างเย็บผ้า แล้วบอกให้เค้าชุนให้ก่อนที่จะขาดเป็นรูใหญ่เลยครับ
รูปตัวอย่างกางเกงที่ผ่านการซ่อมด้วยวิธีการชุน
2. การปะ สำหรับวิธีนี้เหมาะสำหรับการซ่อมแซมในบริเวณที่รอยขาดมีขนาดใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นรอยขาดรูปทรงกลม หรือสี่เหลี่ยม วิธีการคือนำผ้าอีกชิ้นคัดให้มีขนาดใหญ่กว่ารอยขาด จากนั้นเย็บติดเข้าไปเพื่อปิดรูปนั้นๆ วิธีนี้แม้ว่าจะทำให้เกิดร่องรอยบนตัวกางเกงยีนส์ แต่สิ่งที่เป็นข้อดีกว่าการซ่อมด้วยการชุน คือเป็นการซ่อมที่คงทนกว่า กล่าวคือการจะกลับมาขาดซ้ำอีกครั้งนั้นยากกว่านั่นเอง
ร่องรอยการปะบนตัวกางเกง
การซ่อมด้วยวิธีการปะนั้นสามารถใช้เป็นวิธีในการตกแต่งตัวกางเกงยีนส์ได้ด้วยนอกเหนือไปจากการซ่อม โดยไม่ได้จำกัดว่าผ้าที่นำมาใช้ปะนั้นจะต้องเป็นผ้าที่มีสีเดียวกับตัวกางเกง เสมอไป เพราะว่าการใช้โทนสีที่ต่างออกไปนั้นก็ทำให้เกิดการตัดกันของสี จนดูสวยงามได้เช่นกัน
ใช้ผ้าเดนิมสีเข้มกว่าตัวกางเกงเพื่อให้เกิดการตัดกันของสี
ในกรณีที่อยากเพิ่มลูกเล่นให้มากไปกว่าการปะด้วยผ้าเดนิม ก็สามารถใช้วัสดุอื่นๆ เช่นหนัง หรือหนังกลับ หรือผ้าลวดลายต่างๆ รวมไปถึงการใช้ด้ายสีอื่นๆมาเย็บ ก็จะทำให้กางเกงยีนส์ของเรานั้นดูสนุกสนานขึ้นได้มากเลยทีเดียว
การใช้หนังเป็นวัสดุในการนำมาปะ รวมถึงการใช้ด้ายที่มีสีต่างไปจากตัวกางเกง
การปะกางเกงด้วยผ้าชนิดอื่นๆนอกเหนือไปจากผ้าเดนิม
ทั้งสองวิธีที่ได้แนะนำกันไปนั้น ถือเป็นวิธีการซ่อมแซมระดับเบสิค ซึ่งบางคนที่มีความสามารถในการตัดเย็บอาจจะสามารถซ่อมแซมได้ด้วยตัวเอง หรือถ้าไม่เช่นนั้นก็สามารถให้ช่างเย็บผ้าทำให้ได้ แต่หากว่าใครยังรู้สึกว่าการซ่อมแซมแบบนี้มันธรรมดาไป ผมยังมีอีกวิธีมาแนะนำกัน โดยวิธีนี้เรียกว่า Boro โดยมีต้นกำเนิดมาจากประเทศญี่ปุ่น การ Boro นั้นมีพื้นฐานมากจากคนยากจนสมัยก่อนที่นำเอาเศษผ้ามาเย็บต่อกัน เพื่อให้กลายเป็นผ้าผืนใหญ่ ใช้ห่มให้ความอบอุ่น หรือไม่ก็นำมาเย็บต่อกันเพื่อซ่อมแซมบริเวณที่เกิดรอยฉีกขาด ต่อมาได้พัฒนาขึ้นเป็นงานฝีมือ และช่วงไม่กี่ปีมานี้เริ่มมีการนำวิธีการแบบนี้มาใช้เพื่อสร้างเอกลัษณ์ให้กับเสื้อผ้า
ลักษณะของผ้า Boro
การซ่อมแซม หรือแม้แต่การจงใจทำเพื่อการตกแต่งกางเกงยีนส์นั้น ส่วนมากจะใช้ผ้าหลากหลายชนิด รวมไปถึงเส้นด้ายหลากสี และมีขนาดเส้นได้ที่แตกต่างกัน การเย็บ Boro นั้นไม่มีรูปแบบที่ตายตัว ถือเป็นงานฝีมือที่ต้องใช้เทคนิคอย่างมาก อย่างเช่น การเย็บด้วยด้าย Shashiko ช่วยเพิ่มความแข็งแรงบริเวณรอยขาด ใขณะเดียวกันก็เกิดความสวยงามเนื่องจากสี และขนาดของด้ายที่ต่างกัน
การซ่อมแซมรอยขาด ด้วยวิธีการ Boro ด้วยด้าย Sashiko
สำหรับการซ่อมแซมกางเกงในลักษณะนี้ ถือได้ว่าต้องใช้ฝีมือเฉพาะทางรวมไปถึงอุปกรณ์ และวัสดุที่แตกต่างจากการซ่อมกางเกงยีนส์โดยทั่วไป ถ้าใครสนใจกางเกงยีนส์ที่มีลักษณะนี้ ก็อาจจะต้องมองหาแบรนด์จากประเทศญี่ปุ่นที่ปัจจุบันเริ่มมีหลายแบรนด์ที่ทำเสื้อผ้าออกมาในลักษณะนี้
กางเกงยีนส์ที่ใช้เทคนิคการซ่อมแซมแบบ Boro
การซ่อมแซมด้วยวิธีต่างๆที่กล่าวมานั้น ไม่ได้จำกัดอยู่ที่การซ่อมแซมกางเกงยีนส์เท่านั้น สามารถทำได้กับเสื้อเชิ้ตยีนส์ หรือแจ๊คเก็ตด้วยเช่นกัน
เสื้อเชิ้ตที่ใช้การซ่อมแซมเป็นการตกแต่งตัวเสื้อเพื่อความสวยงาม
อ่านมาถึงตรงนี้เพื่อนๆบางคนที่มีกางเกงตัวเก่า หรือเสื้อตัวเก่าๆถ้าจะลองนำไปซ่อมแซม หรือตกแต่งด้วยการเย็บผ้าเพิ่มลงไปก็ลองดูนะครับ มันอาจจะออกมาเป็นเสื้อที่เกิดความแตกต่าง และสวยงามโดยไม่จำเป็นต้องเสียเงินซื้อเสื้อตัวใหม่เลยก็เป็นได้