[S4S]10 Months with Levi's® Made & Crafted Part.9
ใกล้ถึงตอนจบเข้าไปทุกทีแล้วสำหรับ 10 Months with Levi's® Made & Crafted ซึ่งดำเนินมาจนถึงตอนที่ 9 นี้แล้ว โดยหลังจากตอนนี้ก็จะเหลือตอนหน้าที่เป็นบทสรุปอีกแค่ตอนเดียวเท่านั้น และเนื่องจากใกล้จะจบโปรเจ็คแล้ว ในตอนนี้ผมจึงจะมานำเสนอเรื่องสำคัญที่สุดอีกเรื่องหนึ่งของการใส่กางเกงยีนส์นั่นคือการซักกางเกงยีนส์ว่าแต่ละวิธีนั้นให้ผลที่แตกต่างกันอย่างไร โดยจะถือโอกาสนี้ทำการซักกางเกง Levi's® Made & Crafted “Tack Slim” ที่ผมใส่มานี้ไปด้วยเลย
สำหรับการซักกางเกงยีนส์แล้ว แม้ว่าจุดประสงค์หลักนั้นจะเพื่อให้ตัวกางเกงยีนส์มีความสะอาดมากขึ้นหลังจากใส่มาเป็นระยะเวลาหลายเดือน แต่ผลข้างเคียงอย่างหนึ่งที่คนปั้นยีนส์ทั้งหลายหวังไว้ ก็คือการที่รอยเฟดบนตัวกางเกงจะดูมีความคมชัดขึ้นมา ในส่วนนี้จริงๆหลายคนยังมีความเข้าใจที่ผิดๆอยู่ โดยมีความเข้าใจว่ากางเกงยีนส์นั้นหากใส่ไปเรื่อยๆหลายๆเดือน(บางคนตั้งธงกันเป็นมาตรฐานว่า 6 เดือน) จากนั้นพอซักแล้วจะเกิดรอยเฟดขึ้นมาสวยงาม ส่งผลให้เกิดความผิดหวังกันเนื่องจากบางครั้งกางเกงไม่ได้มีรอยเฟดอย่างที่ตั้งใจไว้ นั่นเป็นเพราะว่าในความเป็นจริงแล้วรอยเฟดนั้นเกิดสะสมมาจากกิจกรรมที่เราทำในแต่ละวันอยู่แล้ว การซักนั้นเป็นเพียงการทำให้คราบสกปรกบนตัวกางเกงนั้นหลุดหายไปเผยให้เห็นรอยเฟดที่อยู่ภายใต้มากกว่า ดังนั้นการซักกางเกงยีนส์นั้น ควรทำเมื่อเราพอใจรอยเฟดที่เห็นด้วยตาแล้วมากกว่า คือถ้าเราใส่มาจนเฟดสวยพอใจแล้ว ไม่ว่าจะซักด้วยวิธีไหนกางเกงก็ออกมาสวยแน่นอนครับ
ในส่วนของวิธีการซักกางเกงยีนส์นั้นก็แบ่งง่ายๆเช่นเดียวกับการซักผ้าทั่วไป นั่นคือ
1.Hand Wash (การซักด้วยมือ) จริงๆแล้ววิธีนี้เป็นวิธีที่ดีที่สุดในการซักกางเกงยีนส์ (ถ้าไม่ติดว่าขี้เกียจออกแรงซักเองนะครับ ) เนื่องจากเราจะสามารถกำหนดควบคุม ระยะเวลา ความหนักเบา รวมไปถึงเน้นการทำความสะอาดเฉพาะจุดที่เราต้องการเพิ่มได้ด้วย ไม่ว่าจะเป็นหน้าขา เข่า หรือส่วนใดก็ตาม อีกทั้งการซักด้วยวิธีนี้ยังเป็นการถนอมผ้าด้วย เพราะแม้ว่ากางเกงยีนส์นั้นจะถือว่าเป็นเสื้อผ้าที่ทนทานมากประเภทหนึ่งก็ตามแต่เมื่อใส่ทำกิจกรรมตืดต่อกันเป็นระยะเวลานานตัวผ้าก็อาจจะเริ่มเปื่อยขาดได้ ดังนั้นกรณีที่ผ้าของกางเกงเราเริ่มเปื่อย หรือขาด การเลี่ยงมาซักด้วยมือแทนที่จะใช้เครื่องซักผ้าถือว่าดีกว่ามากๆครับ
2.Machine Wash (การซักด้วยเครื่องซักผ้า) เป็นวิธีที่สะดวกสบายที่สุด เนื่องจากไม่ต้องออกแรงเองรวมไปถึงกางเกงยีนศ์หลังซักนั้นจะไม่อมน้ำมากเท่าการซักด้วยมือ จึงใช้ระยะเวลาในการตากแดดที่น้อยกว่ามาก เหมาะมากกับวันที่เราไม่แน่ใจว่าจะมีแดดออกนานแค่ไหน ข้อดีนอกเหนือจากนั้นก็คือ การซักด้วยเครื่องนั้นตัวผ้าจะเสียดสีกันเองมากกว่าการซักด้วยมือทำให้บางครั้งเราจะได้รอยเฟดเล็กๆน้อยๆเพิ่มขึ้นมาด้วย แต่ก็ต้องแลกกับการที่เนื้อผ้าจะเปลี่ยนสภาพไปมากกว่าการซักมือ สำหรับเครื่องซักผ้ารุ่นใหม่ๆในปัจจุบันนั้นเริ่มมีโหมดพิเศษที่เอาไว้ซักกางเกงยีนส์มากับตัวเครื่องด้วย ทำให้ตอบสนองการใช้งานมากยิ่งขึ้น
คราวนี้มาคุยถึงการซักกางเกง Levi's® Made & Crafted “Tack Slim” ของโปรเจ็คนี้กันดีกว่า ถ้าว่ากันตามความเป็นจริง ด้วยสภาพภายนอกของกางเกงตัวนี้ ถ้าเป็นปรกติแล้วผมจะยังไม่ทำการซักเนื่องจากรอยเฟดต่างๆยังน้อยอยู่มาก(ในส่วนรายละเอียดว่าทำไมกางเกงตัวนี้ถึงเฟดไม่เยอะมาก รวมถึงสรุปเรื่องการเฟดตลอด 10 เดือน นั้นผมจะขอยกยอดไปคุยกันในตอนหน้า) แต่สาเหตุที่ต้องทำการซักแล้วนั้นเนื่องจาก Project นี้กำลังจะดำเนินมาถึงตอนสุดท้ายแล้วนั่นเอง
ตัวกางเกงก่อนซักครั้งนี้ได้ถูกทำการแช่น้ำเปล่ามา 1 ครั้งเมื่อตอนที่ผมใส่ไปได้ประมาณ 5 เดือน และในรูปนื้คือสภาพปัจจุบันก่อนทำการซัก ซึ่งถ้านับจำเฉพาะวันใส่จริงแล้ว จะตกอยู่ที่ประมาณ 7 เดือนครึ่ง
สภาพส่วนด้านหน้าของกางเกงนั้น จะมีร่องรอยเพียงแค่บริเวณหน้าขาเล็กน้อย และรอยซีดบริเวณเข่า ซึ่งเกิดจากการขึ้นไปตรวจงานที่หน้าไซต์งานของผม
ด้านหลังนั้นนอกเหนือจากรอยเฟดหลังเข่า ก็จะมีรอยเปื้อนสีแดงบริเวณกระเป๋าหลัง ซึ่งน่าจะมาจากสีของนั่งร้าน(ส่วนนี้ซักไม่ออก แต่ไม่เป็นไรครับ ถือเป็นความทรงจำอีกอย่างที่อยู่บนตัวกางเกง) ส่วนอื่นๆก็มีรอยเฟดรูปปีกนกบริเวณกระเป๋าหลังด้านซ้าย ส่วนด้านขวาไม่มีเนื่องจากผมใส่กระเป๋าสตางค์ไว้
วิธีการซักที่ผมเลือกใช้กับกางเกงยีนส์ตัวนี้ก็คือการซักด้วยเครื่องซักผ้า(จริงๆกางเกงยีนส์ทุกตัวของผมก็ซักด้วยวิธีนี้ล่ะ เพราะเป็นคนขี้เกียจ :p ) และด้วยความที่เครื่องซักผ้าใหม่ของที่บ้านมีโหมดซักกางเกงยีนส์อยู่ด้วยจึงขอลองซะเลย แต่เมื่อเลือกโหมดเป็นซักยีนส์แล้ว เครื่องมันขึ้นเวลาว่าจะทำการซักถึง 3 ชั่วโมงซึ่งผมว่ามันมากเกินไปเพราะยังไม่ได้อยากให้ซักหนักขนาดนั้น(กะว่าจะใส่ต่อให้กางเกงเฟดเพิ่มแล้วค่อยซักอีก) จึงปรับลดลงมาเหลือ 1 ชั่วโมง 45 นาที แทน และซักโดยใช้น้ำยาซักผ้าครับ
ผลที่ออกมาก็คือกางเกงสะอาดขึ้นค่อนข้างมาก ส่วนสีของกางเกงโดยรวมก็ยังคงเข้มอยู่ รอยเฟดก็ชัดขึ้นมาบ้างพอสมควร เดี๋ยวคงเอามาใส่ต่อให้สีมันมอมๆกว่านี้หน่อยน่าจะสวยขึ้นครับ
ในส่วนของลายปีกนกบริเวณกระเป๋าหลังนั้น ตอนก่อนใส่ผมก็แอบคิดว่ามันจะขึ้นมาให้เห็นรึเปล่า เนื่องจากลายปักนั้นเค้าไม่ได้ปักไว้ด้านหลังกระเป๋า แต่ปักไว้บริเวณตัวกางเกงด้านในเลย ซึ่งในความเป็นจริงแล้วมันนูนออกมาไม่เยอะ แต่สรุปว่ามันเฟดได้จริงๆนะครับ 🙂
ก็ถือว่านี่เป็นการอัพเดตครั้งสุดท้ายของกางเกง Levi's® Made & Crafted “Tack Slim” ตัวนี้แล้ว สำหรับ 10 Months with Levi's® Made & Crafted ในตอนหน้าซึ่งเป็นตอนที่ 10 นั้นจะเป็นบทส่งท้ายซึ่งเป็นการสรุปเรื่องราวตลอด 10 เดือนของโปรเจ็คนี้ แล้วพบกันในตอนสุดท้ายครับ 🙂