10 Months with Levi's® Made & Crafted Part.3
เข้าสู่ตอนที่ 3 ของ 10 Months with Levi's® Made & Crafted กันแล้วนะครับ เมื่อมาถึงเวลานี้ก็เท่ากับว่าตัวผมนั้นใช้ชีวิตอยู่กับกางเกง Levi's®Made & Crafted “Tack Slim” ตัวนี้มาเป็นระยะเวลาประมาณ 2 เดือนแล้ว ถึงแม้ว่าอาจจะไม่ได้ใส่กางเกงตัวนี้ทุกวัน แต่เวลาที่ผมทำการปั้นยีนส์ตัวใดตัวหนึ่งนั้นผมจะพยายามใส่กางเกงตัวนั้นให้ได้อย่างน้อย 4-5 วัน ต่อหนึ่งสัปดาห์ อย่างเช่นกางเกงตัวนี้ก็เช่นเดียวกันเฉลี่ยแล้วผมจะใส่ประมาณ 5 วัน ต่ออาทิตย์ คืออาจจะไม่ได้จำกัดว่าต้องใส่วันทำงานเท่านั้น แต่จะใช้การเฉลี่ยๆไปใส่วันหยุดบ้างเนื่องจากกิจกรรมในวันหยุดก็อาจจะต่างออกไปซึ่งส่งผลให้เกิดรอยเฟดในตำแหน่งที่ต่างไปจากการใส่ทำงานเช่นกัน(แม้จะพูดอย่างนี้ แต่จริงๆแล้วผมก็ทำงานสัปดาห์ละ 6 วัน มีวันหยุดแค่อาทิตย์ละวันอยูดี … T_T )
จากที่ได้เคยกล่าวไว้ในตอนก่อนๆว่า กางเกงยีนส์โดยมากที่ผมใส่นั้นช่วง 1-2 เดือนแรกจะยังไม่ค่อยเห็นร่องรอยการเฟดมากเท่าไรนัก(กรณีนี้แล้วแต่คนนะครับ หลายๆคนที่ใส่ทำกิจกรรมหนักๆก็เริ่มมาตั้งแต่ 2 เดือนแรกก็มี) ดังนั้นในตอนนี้ผมก็ยังขอยกการพูดคุยเรื่องรอยเฟดไปก่อน ทีนี้มาดูกันว่าตอนนี้ความเปลี่ยนแปลงบนตัวกางเกงนั้นมีอะไรบ้าง
Levi's®Made & Crafted “Tack Slim” นั้นแม้ว่าจะเป็นกางเกงผ้าในหมวด Rigid หรือผ้าดิบของ Levi's® แต่ก็ถือว่ามีเนื้อผ้าที่ทอออกมาได้เรียบเนียนมาก ไม่มีผิวสัมผัสที่หยาบเหมือนผ้าสไตล์ Vintageทำให้เราจะเห็นจุดขาวบนเนื้อผ้าน้อยมาก ผิวสัมผัสก็ค่อนข้างเรียบลื่น และนุ่มนวลเวลาใส่ ตรงส่วนนี้นั้นให้ความรู้สึกที่สบายคล้ายกับกางเกงที่ใช้ผ้าผสมเส้นใยยืดทั้งที่เป็นผ้า 100% Cotton สีของตัวกางเกงนั้นก็เป็นสีน้ำเงินที่ค่อนข้างเข้มมากๆ แต่ก็ไม่ต้องกลัวว่าจะเฟดยาก หรือไม่เฟดเพราะว่าจากการใส่มาสีน้ำเงินหลุดติดมือ รวมถึงตกใส่รองเท้าและเสื้อผ้าสีอ่อนพอสมควรเลย(เล่นเอาเสื้อกับรองเท้าสีขาวของผมโดนย้อมสีไปแล้ว J ) กรณีนี้แนะนำให้ช่วง 2-3 เดือนแรกเลี่ยงการใส่รองเท้า หรือเสื้อสีขาวไปก่อนครับ แต่ก็มีวิธีลดได้บ้างคือพับขากางเกง หรือไม่ก็ถ้ากลัวจริงๆก็เอาเทปกาวปิดไว้ด้านในขากางเกงส่วนที่จะสัมผัสกับรองเท้า
ตัวอย่างเวลาสีกางเกงยีนส์ตกใส่รองเท้าสีอ่อน
สิ่งที่พอจะมีมาให้ดูกันได้ในตอนนี้มีแค่รอยยับที่จะพัฒนาต่อเป็นรอยเฟดในอนาคตข้างหน้าเท่านั้น การหลุดของสีตามแนวรอยยับยังมีค่อนข้างน้อย ถ้าจะสังเกตรอยยับต่างๆบนตัวกางเกงนั้นจะเห็นได้ว่ารอยยับจะมีลักษณะไม่เรียวเล็กมากเหมือนกางเกงที่มีจำนวน Oz. ของผ้าใกล้ๆกับตัวนี้ สาเหตุเกิดจากการที่ผ้าของกางเกงตัวนี้ไม่ได้มีความแข็งจากการเคลือบแป้งมามากเท่าไรนัก กางเกงที่ใช้ผ้าลักษณะนี้อาจจะไม่ได้รอยเฟดที่คม และเฟดง่ายมากนัก แต่สิ่งที่ได้มาชดเชยก็คือรอยเฟดที่จะมีความเป็นวินเทจมากหน่อย กล่าวคือรอยจะเป็นเส้นใหญ่ และดูเลือนๆกว่า
รอยเฟดบริเวณกระเป๋าหลัง
ร่องรอยบริเวณหัวเข่า
สิ่งที่ผมค่อนข้างพอใจกับกางเกงตัวนี้ก็คือรอยเฟดบริเวณหลังเข่า ถ้าสังเกตดูจะพบว่ารอยยับจะไม่ถี่เป็นเส้นตรงแนวขวางมากนัก แต่จะเป็นรอยเฉียงและมีลักษณะไขว้กันซึ่งถือว่าสวยงามเป็นลักษณะของรังผึ้ง(Honeycomb) มากกว่า สาเหตุที่เป็นเช่นนี้นอกเหนือไปจากเรื่องของผ้าที่ได้กล่าวไว้แล้ว ก็ยังมาจากทรงของกางเกงที่ไม่เล็ก และรัดบริเวณช่วงขารวมไปถึงหัวเข่ามากเกินไปนัก ในส่วนของหน้าขาก็จะเป็นรอยยับที่เกิดตามปรกติจากเวลาที่เรานั่งแล้วเกิดการย่นพับของกางเกง
รอยยับบริเวณหลังเข่า(Honeycomb)
ตัวอย่างรอย Honeycomb ที่ดีซึ่งจะมีการไขว้กันเป็นรังผึ้ง
สุดท้ายแล้วกางเกงตัวนี้น่าจะเฟดออกมามีลักษณะใกล้เคียงกับกางเกงตัวนี้ครับ โดยในรูปนี้จะเป็นกางเกงยีนส์ฟอกในไลน์ Levi's®Made & Crafted แม้ว่าผ้าอาจจะเป็นคนละชนิดกัน แต่จากที่ผมเทียบดูน่าจะไม่ต่างไปจากนี้มากครับ
ตัวอย่างรอยเฟดจากยีนส์ LMC ฟอก
กางเกงตัวนี้ผมยังไม่ได้วางแผนไว้ว่าจะแช่น้ำเปล่า น้ำทะเล หรือว่าจะใส่ยาวๆแล้วจัดการซักทีเดียวเลย โดยต้องของลองดูลักษณะการเฟดอีกทีนึง เพราะแต่ละวิธีก็ให้ผลที่ไม่เหมือนกัน แม้ว่าผ่านมา 2 เดือนยังไม่ค่อยเห็นเรื่องการเฟดเท่าไรนัก แต่ผมก็ยังไม่ได้ใส่ใจตรงนั้นมาก เนื่องจากช่วง 2 เดือนที่ผ่านมาผมงานของผมนั้นยังเน้นทำอยู่ใน Office เป็นส่วนใหญ่ แต่ตั้งแต่เดือนหน้าเป็นต้นไป จะเริ่มเป็นงานติดตั้งแล้ว ซึ่งคงจะได้ออกไปขลุกอยู่หน้างานมากขึ้น น่าจะทำให้กางเกงตัวนี้เริ่มมีการเฟดอย่างจริงจังซักที
สภาพที่ทำงานที่ตอนนี้เริ่มขึ้นโครงสร้างได้หลายชั้นแล้ว
เอาไว้ตอนหน้า ผมจะมาพูดคุยถึงเรื่องปัจจัยที่ทำให้กางเกงยีนส์เฟด รวมไปถึงกิจกรรมต่างๆที่ผมได้ทำในแต่ละวันให้ฟังกันครับ 🙂